ประวัติโรงพยาบาล
ประวัติโรงพยาบาล

โรงพยาบาลนครปฐม เดิมเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 โดยใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลเมืองนครปฐม" ตั้งอยู่บนถนนหลังพระ ตำบลพระปฐมเจดี อำเภอ เมือง จังหวัดนครปฐม เป็นย่านชุมชนหนาแน่น มี เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่เศษ เป็นทรัพย์สินส่วนของ เทศบาลเมือง นครปฐม อาคารให้บริการมีเพียง ตึก อำนวยการชั้นเดียว 1 หลัง เรือนผู้ป่วยสามัญ และ ตึกสงฆ์อาพาธอีก 3 หลังสถานที่คับแคบไม่พอเพียงแก่การรับผู้ป่วยไว้รักษาใน โรงพยาบาล
ปี พ.ศ. 2505 นายพล วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายมานิตย์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม และบรรดา ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน จึงร่วมกันวางโครงการย้ายโรงพยาบาล ไปยังสถานที่ที่เหมาะสมกว่า กว้างขวางกว่าเดิม ด้วยการสนับสนุนจาก เงินงบประมาณของรัฐ เงินบริจาคสมทบ จากภาคเอกชนและประชาชน ทั่วไป เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 7,245,899.50 บาท
พ.ศ. 2506-2509 จึงได้ดำเนินการก่อสร้าง โรงพยาบาล แห่งใหม่บนถนนเทศา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม บริเวณหน้าโรงเรียนพระปฐม วิทยาลัย ซึ่งเดิมเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ จนแล้วเสร็จ ในวันที่ 11 มีนาคม 2509 ฯพณฯ นายก รัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ทำพิธีเปิด โรงพยาบาลแห่งนี้
โดยมีอาคารสำหรับผู้ป่วยทั้งหมด 9 หลัง ประกอบด้วย
ตึกอำนวยการ 2 ชั้น 1 หลัง เป็นเงิน 785,000 บาท
ตึกผู้ป่วยสูติกรรม (เสรี-สมานจิต ธรรมวิทย์) เป็นเงิน 448,000 บาท
ตึกผู้ป่วยสามัญชาย (สหัส-หงส์ มหาคุณ) เป็นเงิน 448,000 บาท
ตึกผู้ป่วยสามัญ (งบประมาณ) เป็นเงิน 455,000 บาท
ตึกผู้ป่วยสามัญ (มี สุวรรณศิลป์) เป็นเงิน 620,000 บาท
ตึกผู้ป่วยเด็ก (นิวนามทอง) เป็นเงิน 485,000 บาท
ตึกผู้ป่วยพิเศษ (สหสามัคคี) เป็นเงิน 580,000 บาท
ตึกผ่าตัดและเอกซเรย์ (งบประมาณ) เป็นเงิน 275,000 บาท
ตึกสงฆ์อาพาธได้รับความร่วมมือจากพระราช เป็นเงิน 1,200,000 บาท
ธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) วัดดอนยายหอม ฝ่ายคณะสงฆ์จังหวัด และบรรดาศิษยานุศิษย์ร่วมบริจาค
ปี พ.ศ. 2517 โรงพยาบาลนครปฐมขยายบริการเป็น โรง พยาบาลทั่วไป สังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข บำบัดรักษาแก่ประชาชนภายในจังหวัด นครปฐมและเขตพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมนักศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลและ โรงพยาบาลต่าง ๆ ตามหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข
ปี พ.ศ. 2523 ภาคเอกชนร่วมกับนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม ได้บริจาคเงินจำนวน 2,088,000.00 บาทสร้างตึกกาชาดเพื่อใช้ในกิจการธนาคารเลือด และห้องประชุมโรงพยาบาลนครปฐม
ปี พ.ศ. 2527-2528 สมาคมชาวนครปฐม สโมสรโรตารี่นครปฐมร่วมกับพ่อค้า ประชาชน สมทบทุนบริจาคเพื่อสร้างตึกสามัญ ตา หู คอ จมูก และตึกผู้ป่วยพิเศษ 20 ห้อง รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นเงินจำนวน 7,584,213.78 บาท
ปี พ.ศ. 2529 โรงพยาบาลนครปฐมได้รับการยกระดับเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในโครงการพัฒนาระบบ บริการของสถารบริการและหน่วยงานสาธารณสุข ในส่วนภูมิภาค (พบส.7/2) โดยรับผิดชอบ โรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และสถานีอนามัยในเขตจังหวัดนครปฐม ทั้งหมด และโรงพยาบาลทั่วไป ใน เครือข่าย 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลมะการักษ์ และ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช และ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี
ปี พ.ศ. 2531 โรงพยาบาลนครปฐมได้รีบการยกระดับเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 500 เตียง สังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้บริการตรวจ รักษาโรคเฉพาะสาขาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นสถานฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นโรงเรียนวิสัญญีพยาบาล และเป็นที่ฝึกอบรมของนักศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันอื่น
ปี พ.ศ. 2535 โรงพยาบาลนครปฐมได้รับงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 51,059,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วย 6 ชั้น เพื่อใช้ในการ ผ่าตัดคลอดบุตร และหอผู้ป่วยสูติกรรม นรีเวชกรรม ศัลยกรรมชาย และหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง
ปี พ.ศ. 2535 โรงพยาบาลนครปฐมได้รับเงินบริจาค จากนักธุรกิจ คุณปรีดา รวมเมฆ และคณะ จำนวน 25,360,000 บาท เพื่อก่อสร้าง "อาคารรวมเมฆ" สูง 5 ชั้น ใช้ในงานศูนย์บริการโลหิต งานชันสูตรโรคทางห้องปฏิบัติการและหอสำหรับผู้ป่วยพักฟื้น ตึกนี้ดำเนินการก่อสร้างและออกแบบโดย คุณปรีดา ผู้บริจาค
ปี พ.ศ. 2536 พระครูเกษมธรรมนันท์ (หลวงพ่อแช่ม) และศิษยานุศิษย์ วัดดอนยายหอม ได้ร่วมกัน บริจาคเงินจำนวน 21,500,000 บาท ก่อสร้างตึก ผู้ป่วยพิเศษขนาด 4 ชั้น 42 ห้อง เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่หลวงพ่อแช่มในโอกาสอายุครบ 84 พรรษา และขอพระราชทานอัญเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีอาคาร หลวงพ่อแช่ม ในวันที่ 30 สิงหาคม 2537
ปี พ.ศ. 2537 โรงพยาบาลนครปฐมได้รับงบประมาณ จำนวน 115,490,150 บาท ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ ขนาด 6 ชั้น เพื่อทดแทนอาคารผู้ป่วยนอก และอำนวยการเดิมที่ชำรุด และสถานที่คับแคบ ไม่สามารถรองรับปริมาณงานให้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยเปิดใช้งานในปีงบประมาณ 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดย ชั้นล่างสุดเป็นสถานที่จอดรถ ชั้นที่ 1-3 เป็นบริการผู้ป่วยนอก ส่วนชั้นที่ 4-5 เป็นส่วนสำนักงาน
ปี พ.ศ. 2540 เป็นโรงพยบาลในเครือข่ายสำนักงาน ประกันสังคม โดยมีโรงพยาบาล ชุมชนในจังหวัดนครปฐม 8 แห่ง โรงพยาบาลภาครัฐ 4 แห่ง(โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา โรงพยาบาลมะการักษ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และโรงพยาบาลสมุทรสาคร) และโรงพยาบาล เอกชน 3 แห่ง (โรงพยาบาลศรีวิชัย 1-5, โรงพยาบาลสนามจันทร์ และโรงพยาบาลเมืองราช) เป็นโรงพยาลลูกข่าย
ปี พ.ศ. 2546 กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับโครงสร้างของกระทรวงใหม่เป็นกลุ่มภารกิจ (Cluster) มี 10 ส่วนราชการ คือ
1. สำนักงานรัฐมนตรี
2. สำนักงานปลัดกระทรวง
3. กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์ ประกอบด้วย 3 กรม คือ กรมการแพทย์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกรมสุขภาพจิต
4. กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาสาธารณสุข ประกอบด้วย 2 กรม คือ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย
5. กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ประกอบด้วย 3 กรม คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้กลุ่มใดกลุ่ม หนึ่งโดยเฉพาะ ดังนี้
1. หน่วยงานในกำกับ มี 5 หน่วงงาน คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชนนก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
2. หน่วยงานที่ปรับเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน มี 4 หน่วยงาน คือ สถานบริการสุขภาพ (โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/สถานีอนามัย) สถาบันการแพทย์เฉพาะทาง สำนักงานจัดระบบบริการแพทย์ฉุกเฉิน และสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล
3. รัฐวิสาหกิจ มี 1 แห่ง คือ องค์การเภสัชกรรม
ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการบริหาร จะพบว่า ตามกฎกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลนครปฐมเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวง สาธารณสุข แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้กลุ่มภารกิจใดภารกิจหนึ่ง และเป็นองค์การมหาชน ตามกฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนด